จากกระแสที่ว่าบริษัท นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ถูกศาลสั่งล้มละลายนั้นเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากบนโลกสังคมออนไลน์ ซึ่งข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน แต่ได้กลับมาเป็นกระแส ซึ่งไม่แน่ว่าผู้ที่ปล่อยข่าวอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่ไม่หวังดีต่อนมไทย-เดนมาร์ค หรืออาจจะเข้าใจผิด วันนี้แอดมินได้เสาะแสวงหาข่าวที่เป็นความจริงมาเผยแพร่ให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้รับทราบกันว่ามีความจริงเป็นอย่างไร

thai-danish

thai-danish

อ.ส.ค.ออกโรงย้ำ “นมไทย – เดนมาร์ค” ยังอยู่คู่คนไทยตลอดไป แจง “บ.นมไทย – เดนมาร์ค จำกัด” เป็นเพียงอดีตตัวแทนจำหน่ายผลิตภํณฑ์นม ปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องกับอ.ส.ค. วันที่ 11 มี.ค. 2554 “อ.ส.ค.”  ออกโรงชี้แจงกรณีพิพากษาให้ “บริษัท นมไทย – เดนมาร์ค จำกัด” อดีตบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายนมวัวแดงเมื่อ 17 ปีที่แล้วมีสถานะ “ล้มละลาย” ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ อ.ส.ค. ชี้สถานะเป็นแค่ลูกหนี้เก่า อ.ส.ค. เท่านั้น พร้อมเผยปัจจุบัน อ.ส.ค. ถือเป็นเจ้าตลาดนมพร้อมดื่มเป็นอันดับสองของประเทศ มียอดจำหน่ายกว่า 6 พันล้านบาทต่อปี มีความมั่นคงทุกด้านและยังคงอยู่คู่คนไทยตลอดไป

         นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตนมไทย – เดนมาร์ค หรือ “นมตราวัวแดง” แถลงชี้แจงว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง คำพิพากษาให้บริษัท นมไทย – เดนมาร์ค จำกัดล้มละลาย และกำหนดการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.16031/2550 กองบังคับคดีล้มละลาย 1 ศาลล้มละลายกลาง โดยประกาศระบุว่า ด้วยคดีเรื่องนี้ ศาลล้มละลายกลาง ได้พิพากษาให้บริษัท นมไทย – เดนมาร์ค จำกัด ลูกหนี้ เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2553 และศาลได้กำหนดนัดไต่สวน นายบุญมี จันทรวงศ์ ผู้ชำระบัญชี บริษัทฯ ลูกหนี้โดยเปิดเผยที่ศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ลูกหนี้ มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 49/11 หมู่บ้าน ลภาวัล 14 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว มีสิทธิไปฟังการไต่สวนและซักถามลูกหนี้ที่ศาลได้หรือจะมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปแทนก็ได้นั้น ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวได้สร้างความสับสนและเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปอย่างมาก เนื่องจากเข้าใจผิดว่าต่อไปนี้จะไม่มีผลิตภัณฑ์นมไทย – เดนมาร์คจัดจำหน่ายในท้องตลาดอีกต่อไปแล้วจากภาวะล้มละลายดัง กล่าว ประกอบกับ เว็ปไซต์แห่งหนึ่งได้ลงรูปภาพประกอบข่าวนี้เป็นภาพผลิตภัณฑ์ “นมไทย – เดนมาร์ค” ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลิตโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งมิได้ถูกผลิตโดย “บริษัทนมไทย-เดนมาร์ค จำกัด” ที่เพิ่งถูกประกาศล้มละลายแต่อย่างใด จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
         นายนพดล ชี้แจงต่อไปว่า “บริษัท นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด” เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ผู้ถือหุ้นกลุ่ม ก ซึ่งได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมแห่งประเทศไทย, กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม, อ.ส.ค., กลุ่มพนักงานอ.ส.ค., ธกส. และ อตก. กับผู้ถือหุ้นกลุ่ม ข คือ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักส์ จำกัด จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค ในช่วงปี 2537 – 2539 เท่านั้น ซึ่งมีผลการดำเนินงานในปี 2537 เป็นไปตามเป้าหมายของสัญญา แต่ต่อมาในปี 2538-2539 บริษัทนมไทย-เดนมาร์คฯ เริ่มประสบปัญหา ไม่สามารถชำระหนี้ อ.ส.ค. ได้ตามกำหนด ทำให้ อ.ส.ค. ยกเลิกสัญญาซื้อขายระหว่าง อ.ส.ค. กับบริษัทนมไทย-เดนมาร์คในปี 2539 และได้มีการดำเนินคดีมาโดยตลอดจนถึงที่สิ้นสุดเป็นข่าวดังกล่าว ดังนั้น ในปัจจุบัน บริษัท นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด จึงอยู่ในสถานะลูกหนี้ของ อ.ส.ค. เท่านั้น และบริษัทดังกล่าวในปัจจุบันไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีข้อผูกพันใดๆ กับ อ.ส.ค. อีกแล้ว
         นายนพดล กล่าวด้วยว่า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ปัจจุบัน อ.ส.ค. ได้ดำเนินการทางการตลาดด้วยตนเองมาตลอด โดยจัดจำหน่ายเองตั้งแต่ปลายปี 2539 โดยใช้ทั้งกลยุทธสร้างความสัมพันธ์กับเอเย่นต์ในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่องรวมทั้งเดินแผนรุกในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศจนประสบความสำเร็จอย่างมาก เห็นได้จากผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาในปี 2549 มียอดจำหน่าย 3,400 ล้านบาท, ปี 2550 มียอดจำหน่าย 3,460 ล้านบาท, ปี 2551 มียอดจำหน่าย 4,120 ล้านบาท, ปี 2552 มียอดจำหน่าย 5,640 ล้านบาท และปี 2553 มียอดจำหน่าย 6,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ อ.ส.ค. ได้วางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เข้มข้นขึ้น โดยมีแผนจะออกแคมเปญโฆษณาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดปูพรมทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 6,500 ล้านบาท
         “นอกจากทาง อ.ส.ค. จะเดินหน้าแบรนดิ้งให้แข็งแกร่งแล้ว ยังมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มเพื่อออกมาทำตลาดในปีนี้ให้มีความหลากหลาย และปรับปรุงรสชาติตามความนิยมของผู้บริโภคเพื่อตลาดในวงกว้างมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ นมสดรสสตรอเบอรี่ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น – วัยทำงาน โดยจะเน้นจุดแข็งของตราผลิตภัณฑ์ไทย – เดนมาร์ค หรือนมวัวแดงซึ่งเป็นเพียงผลิตภัณฑ์นมชนิดเดียวในประเทศไทยที่ผลิตจากนมสดแท้ 100 % และในปีนี้ อ.ส.ค. จะดำเนินการกลยุทธ์เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นนมสดแท้ของผลิตภัณฑ์ นมไทย-เดนมาร์ค โดยการออกโฆษณาชุดใหม่ และจัดอีเว้นต์ไปตามโมเดิร์นเทรดและจุดขายต่างๆ เพื่อสร้างการรู้จักแบรนด์ไทย-เดนมาร์คในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งในตอนนี้นมไทย-เดนมาร์คมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 34.3 และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.8 ในขณะที่ตลาดนมโดยรวมของประเทศมีอัตราเติบโตเพียงร้อยละ 1.3 แสดงให้เห็นว่านมไทย-เดนมาร์คยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ครองใจผู้บริโภคมาตลอด 50 ปี ทั้งนี้ อ.ส.ค. ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ในปีนี้จะขยายการเติบโตนมไทย-เดนมาร์คในตลาดให้เพิ่มขึ้นประมาณ 5 – 10 % โดยตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มยอดการจำหน่ายเป็นจำนวน 10,000 ล้านบาทต่อปี” นายนพดลกล่าว
         ปัจจุบัน อ.ส.ค. มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด 5 แห่ง ดังนี้ โรงงานนมมวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี, โรงงานนมปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, โรงงานนมขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น, โรงงานนมเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และโรงงานนมสุโขทัย อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย และมีผลิตภัณฑ์ตราไทย-เดนมาร์ค 4 ชนิด คือ นมยู.เอช.ที.รสจืด, รสหวาน, รสช็อคโกแล็ต, รสพร่องมันเนย, รสสตรอเบอร์รี่ ขนาด 125 ml. / 200 ml. / 250 ml. นมพาสเจอร์ไรส์รสจืด, รสหวาน, รสช็อคโกแล็ต ขนาด 200 ml. นมเปรี้ยวรสผลไม้ รสธรรมชาติ, รสสตรอเบอร์รี่, รสลูกชิด, รสผลไม้รวม ขนาด 120 ml.
ขอขอบคุณที่มาข่าว:http://www.moac.go.th

กระจ่างแจ้งกันแล้วนะครับทุกท่าน