โรงงานนมมวกเหล็ก (จังหวัดสระบุรี)

ระหว่างปีพุทธศักราช 2514-2515 โรงงานนมผลิตภัณฑ์นมโรงแรกของ อ.ส.ค. เกิดขึ้น โครงสร้างตัวอาคารเป็นคอนกรีตชั้นเดียว ประกอบด้วยห้องเย็นสามห้อง ก่อสร้างบนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร งบประมาณค่าก่อสร้าง 1,025,000- บาท ด้านหลังอาคารเป็นโรงไฟฟ้าและโรงต้มไอน้ำแยกต่างหาก โรงงานหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร 1962 ประมาณ 350 เมตร โดยนำเครื่องจักรอุปกรณ์สำคัญๆ ที่จำเป็นจากโรงนมเก่ามาติดตั้งใช้งาน จากการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์บรรจุถุง ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาได้ในระยะเวลาสั้นและยังต้องเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ จึงเป็นที่มาของการก้าวไปสู่การพัฒนา ผลิตภัณฑ์นมรูปแบบใหม่ โดยในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการนำเข้าเครื่องจักรผลิตนมสเตอริไลส์ (Sterilized)ระบบ UHT (Ultra High Temperature) ผลิตภัณฑ์นมยูเอชที ในระยะแรกบรรจุกล่องสามเหลี่ยมปีรามิด และในอีกสามปีต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็นการบรรจุกล่องแบบสี่เหลี่ยมเมื่อปี พ.ศ. 2522 จนถึงปัจจุบัน

 

โรงงานนมปราณบุรี (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

สืบเนื่องจากโครงการเลี้ยงโคนมในหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่, โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในนิคมสร้างตนเองบ้านเนินดินแดงและโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมทดแทนการปลูกสับปะรด ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ในระยะแรกที่มีโครงการส่งเสริมเกิดขึ้นในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมในโครงการอยู่หลายอำเภอ ซึ่งไม่สามารถนำน้ำนมดิบมาส่งที่ศูนย์รับนม อำเภอปราณบุรี ของ อ.ส.ค. ได้ เนื่องจากระยะทางไกลและต้นทุนสูง และ อ.ส.ค. จะต้องขนส่งน้ำนมดิบจากอำเภอปราณบุรี ไปส่งเข้าโรงงานนม อ.ส.ค.ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำนมดิบสูงมาก และทำให้คุณภาพนมเสื่อมเร็วขึ้น ประกอบกับ อ.ส.ค. ได้จัดตั้งศูนย์รับนมชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง คือ ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี, ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งของ อ.ส.ค.และของเกษตรกร และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพน้ำนมดิบที่ป้อนเข้าโรงงานนมให้ได้มาตรฐาน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2522 อ.ส.ค. จึงได้เตรียมผลิตแม่โคนมให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร, จัดเตรียมอุปกรณ์รวบรวมน้ำนมดิบที่เกษตรกรผลิต และจัดเตรียมทำโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นม ต่อมาสมาคมกลุ่มชาวไร่ประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี ได้อุทิศที่ดินสำหรับก่อสร้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นม จำนวน 20 ไร่ ที่ตำบลหนองตาแต้ม ริมถนนเพชรเกษม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 80 ล้านบาท (เงินกู้จากรัฐบาลเดนมาร์ค และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร) มีกำลังการผลิตประมาณ 60 ตัน/วัน แล้วเสร็จในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 โรงงานได้เริ่มทำการผลิตผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มยูเอชที

 

โรงงานนมขอนแก่น (จังหวัดขอนแก่น)

ในปี 2537-2539 รัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบการดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างและระบบการผลิตทางการเกษตร (คปร.)เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาและผลผลิตตกต่ำ ในแผนงานดังกล่าวนี้ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมได้รับการบรรจุไว้ด้วย โดยในส่วนของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมมีเป้าหมายที่จะรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปีละ 2,000 ราย รับโคนมรายละ 5 ตัว รวมโคนมปีละ 10,000 ตัว รวมระยะเวลา 3 ปี เป้าหมายเกษตรกร 6,000 ราย โคนม 30,000 ตัว และเพื่อเป็นการรองรับโครงการดังกล่าว รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 254 ล้านบาท ให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตภัณฑ์นมยูเอชที ขนาดกำลังผลิตวันละ 60 ตัน และได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบขนาด 10 ตัน จำนวน 5 แห่งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในบริเวณจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ขณะนี้มีจำนวน 7 ศูนย์ฯ ได้แก่ศูนย์ฯ น้ำพอง ศูนย์ฯ กระนวน ศูนย์ฯ พังทุย ศูนย์ฯอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ศูนย์ฯ ศรีธาตุ ศูนย์ฯ ทุ่งฝน ศูนย์ฯหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และสามารถรองรับน้ำนมดิบจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดใกล้เคียงด้วยเนื่องจากงบประมาณไม่มีส่วนของค่าที่ดิน จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆที่มีที่ดินยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 80-100 ไร่ โดยได้ดำเนินการสำรวจในพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และสกลนคร และได้มีความเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานแปรรูปน้ำนมดิบที่ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการอนุญาตให้ อ.ส.ค. ใช้ที่ดินในการก่อสร้างดังกล่าว

 

โรงงานนมสุโขทัย (จังหวัดสุโขทัย)

โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมของ อ.ส.ค. ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่บริเวณนิคมสหกรณ์สวรรคโลกตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมตามแผนปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร ปี พ.ศ. 2537 – 2539 เช่นเดียวกับโรงงานนมจังหวัดขอนแก่น เป็นโรงงานที่ใช้รองรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในจังหวัดสุโขทัย จากอำเภอศรีนคร คีรีมาศ ทุ่งเสลี่ยม กงไกรลาศ และศูนย์ส่งเสริมฯ อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร โครงการและแผนปรับโครงสร้างฯ ได้สนองนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรด้วยและนับเป็นการขยายเครือข่ายงานโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง จากภาคอีสานไปสู่ภาคเหนือตอนล่าง โรงงานนมสุโขทัยเริ่มดำเนินการผลิตนมยูเอชที เป็นระบบแรกโดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งต่อมาได้มีการขยายระบบการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์เพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตประมาณวันละ 60 ตัน

 

โรงงานนมเชียงใหม่ (จังหวัดเชียงใหม่)

โรงงานนมเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2510 ด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน ใช้เป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเกษตรกรในพื้นที่มาก่อน เดิมเป็นโรงงานขนาดเล็กอยู่ในความดูแลของกรมปศุสัตว์ ต่อมาสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ได้เข้ามารับช่วงแทน เมื่อปี 2516 และได้มอบให้ อ.ส.ค. เข้าไปดำเนินการต่อเมื่อปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา เนื่องจากในจังหวัดเชียงใหม่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ก่อนแล้วจึงทำให้การส่งเสริมการเลี้ยงโคนม แผ่วงกว้างครอบคลุมไปทางภาคเหนือตอนบนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยรองรับการขยายตัวของเกษตรกรที่หันมาเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้นจากทางภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างได้ในเวลาต่อมา โรงงานนมเชียงใหม่ ใช้น้ำนมดิบที่ได้จากสถาบันโคนมแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ศูนย์ส่งเสริมกิจการโคนมห้วยแก้ว ป่าตึง และ ท่าทราย มีกำลังการผลิตประมาณ 20-30 ตันต่อวัน